วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เศรษฐศาสตร์


 

ระบบเศรษฐกิจ(Economics System)
ระบบเศรษฐกิจของ ประเทศต่างๆในโลกจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจของผู้บริหารในแต่ละประเทศ ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ๆดังนี้

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม (Laissez-Faire or Capitalism)


ระบบ เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนใน การเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เศรษฐทรัพย์ต่างๆที่ตนหามาได้ มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการเลือกอุปโภคบริโภคสินค้า และบริการต่างๆ แต่ทว่าเสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินการใดๆจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลอื่น ใช้ระบบของการแข่งขันโดยมีราคาและระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะมีหน้าที่เพียงการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการป้องกันประเทศ

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
  1. เอกชนมีเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามที่ตนถนัด
  2. กำไร และการมีระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นแรงจูงใจทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ กล่าวคือ เอกชนจะทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากผลิตได้มากน้อยเท่าไรก็จะได้รับผล ตอบแทนหรือรายได้ไปเท่านั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจระบบนี้จะมีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้เกิดการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
  1. ก่อ ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเนื่องจากความสามารถที่แตกต่างกันในแต่ละ บุคคลโดยพื้นฐาน ทำให้ความสามารถในการหารายได้ไม่เท่ากัน ผู้ที่มีความสามารถสูงกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจ
  2. ใน หลายๆกรณี ราคาหรือกลไกตลาดยังไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการจัด สรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สินค้าและบริการที่มีลักษณะของการผูกขาดโดยธรรมชาติหรือสินค้าและบริการ สาธารณะ ซึ่งได้แก่ บริการด้านสาธารณูปโภค (น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ) โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน เขื่อน สะพาน ฯลฯ) จะเห็นได้ว่าสินค้าและบริการดังกล่าวส่วนใหญ่จะต้องใช้เงินลงทุนมาก เทคโนโลยีที่ทันสมัย เสี่ยงกับภาวะการขาดทุน เนื่องจากมีระยะการคืนทุนนาน ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ทำให้เอกชนไม่ค่อยกล้าลงทุนที่จะผลิต ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการแทน อันเนื่องจากสินค้าและบริการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ประชาชน ต้องการ จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวราคาไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากร ได้
  3. การใช้ระบบการ แข่งขันหรือกลไกราคาอาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่าง สิ้นเปลือง เช่น ในบางช่วงที่มีการแข่งขันกันสร้างศูนย์การค้าเพราะคิดว่าเป็นกิจการที่ให้ผล ตอบแทนหรือกำไรดี ศูนย์การค้าเหล่านี้เมื่อสร้างขึ้นมามากเกินไปก็อาจไม่มีผู้ซื้อมากพอ ทำให้ประสบกับการขาดทุน กิจการต้องล้มเลิก เสียทุนที่ใช้ไปในกิจการนั้น เป็นการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปอย่างเปล่าประโยชน์และไม่คุ้มค่า เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
ระบบ เศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบ เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์รัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งปัจจัยการผลิตทุกชนิด เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ ตลอดจนเสรีภาพที่จะเลือกใช้ ปัจจัยการผลิตได้ รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการและทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรต่างๆ หน่วยธุรกิจและครัวเรือน จะผลิตและบริโภคตามคำสั่งของรัฐ กลไกราคาไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจกระทำโดยรัฐบาล กล่าวคือ รัฐบาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจว่า ทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ควรจะนำมาผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร การตัดสินใจ มักจะทำอยู่ในรูปของการวางแผนแบบบังคับจากส่วนกลาง (central planning) โดยคำนึงถึงสวัสดิการ ของสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยสรุประบบเศรษฐกิจแบบนี้จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจทุกอย่าง ไว้ที่ส่วนกลาง รัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนแต่เพียงผู้เดียว เอกชนมีหน้าที่เพียงแต่ทำตามคำสั่งของทางการ เท่านั้น

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
จุด เด่นของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ก็คือ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้ของบุคคลใน สังคม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนจะทำการผลิตและ บริโภคตามคำสั่งของรัฐ ผลผลิตที่ผลิตขึ้นมาจะถูกนำส่งเข้าส่วนกลาง และรัฐจะเป็นผู้จัดสรรหรือแบ่งปัน สินค้าและบริการดังกล่าวให้ประชาชนแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการได้ เปรียบเสียเปรียบ

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์
  1. ประชาชนไม่มีเสรีภาพที่จะผลิตหรือบริโภคอะไรได้ตามใจ ถูกบังคับหรือสั่งการจากรัฐ
  2. สินค้า มีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ผลิตขาดแรงจูงใจ เพราะไม่ว่าจะผลิตสินค้าได้ มากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกจะต้องบริโภคตามการปันส่วนที่รัฐจัดให้
การ ใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถที่จะมีข่าวสารสมบูรณ์ในทุกๆเรื่อง เช่น รัฐไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทำให้ผลิต สินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการ ส่งผลให้มีสินค้าเหลือ (ไม่เป็นที่ต้องการ) จะเห็นได้ว่าลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรของประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์ เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)
ระบบ เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจ แบบคอมมิวนิสต์ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมรัฐจะเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรการผลิตพื้นฐาน ไว้เกือบทั้งหมด และเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน กิจการหลักที่มี ความสำคัญต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ เช่น ธุรกิจธนาคาร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าไม้ น้ำมัน กิจการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ฯลฯ รัฐจะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม รัฐยังให้เสรีภาพแก่ประชาชนบ้างพอสมควร เอกชนมีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน เช่น สามารถทำธุรกิจค้าขายขนาดย่อมระหว่างท้องถิ่นใกล้เคียง สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน เพื่อการยังชีพ โดยสรุป ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกรัฐเป็นกลไกสำคัญใน การจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ แต่ทว่ากลไกราคาพอจะมีบทบาทอยู่บ้างในระบบเศรษฐกิจนี้

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ระบบ เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีส่วนช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทาง ฐานะและรายได้ของบุคคลเช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนมีเสรีภาพและมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน บ้างพอสมควร

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ภาย ใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เนื่องจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานอยู่ในการควบคุมของ รัฐบาลทำให้ขาดความคล่องตัว การผลิตถูกจำกัดเพราะต้องผลิตตามที่รัฐกำหนด โอกาสที่จะขยายการผลิตหรือพัฒนาคุณภาพการผลิตเป็นไปค่อนข้างลำบาก ทำให้การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ในลักษณะเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์

ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
ระบบ เศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบ ทุนนิยม กับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม กล่าวคือ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตมีทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน ในส่วนที่เป็นแบบทุนนิยม คือ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางอย่าง มีเสรีภาพในการเลือกผลิตหรือบริโภค ใช้ระบบของการแข่งขัน กลไกราคาเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ส่วนที่เป็นแบบสังคมนิยม คือ รัฐบาลเข้ามาควบคุมหรือเข้ามาดำเนินกิจการที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น กิจการสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนมากเพราะหาเอกชนลงทุนได้ยาก เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้อง เสี่ยงกับการขาดทุนหรือไม่คุ้มกับการลงทุน แต่กิจการเหล่านี้จำเป็นต้องมีเพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีพ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง และคมนาคม เหตุที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินการในกิจการดังกล่าวก็เพื่อขจัดปัญหาในเรื่องการ ผูกขาดหรือเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นถ้าปล่อยให้เอกชนทำการแข่งขัน โดยสรุปแล้วระบบเศรษฐกิจแบบผสมจึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทั้งระบบกลไก ราคา หรือระบบตลาดควบคู่ไปกับระบบกลไกรัฐในการจัดสรรทรัพยากร

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
เป็น ระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีความคล่องตัว กล่าวคือ มีการใช้กลไกรัฐร่วมกับกลไกราคาในการจัดสรรทรัพยากรของระบบ กิจการใดที่กลไกราคาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐก็จะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (ใช้ระบบของการแข่งขัน) แต่ถ้ากิจการใดที่กลไกราคาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพรัฐก็จะ เข้ามาดำเนินการแทน จะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสาน กล่าวคือ รวมข้อดีของทั้งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมเข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
  1. การมีกำไรและระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอาจก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะ และรายได้เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
  2. การที่รัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยใช้กลไกรัฐอาจก่อให้เกิด
    1. ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้เกิดการบิดเบือน การใช้ทรัพยากรของระบบ เศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
    ปัญหา เอกชนไม่กล้าลงทุนอย่างเต็มที่เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลซึ่งมีความผันผวนและแปรเปลี่ยนได้ง่าย อาจทำให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง